Accessibility Tools

 

สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6

ภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานimage

อำนาจหน้าที่และการแบ่งงานภายใน

     เนื่องจากโครงสร้างของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๖ มีโครงสร้างอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของข้าราชการ ๒ ประเภทรวมเข้าด้วยกัน คือ ข้าราชการตุลาการและข้าราชการศาลยุติธรรม ดังนั้น การแบ่งงานภายในระหว่างข้าราชการตุลาการและข้าราชการ ศาลยุติธรรมจึงแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ

๑. งานด้านตุลาการ โดยมีอธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

๑.๑ อธิบดีผู้พิพากษาภาค มีอำนาจหน้าที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๔ ประกอบมาตรา ๑๑ ดังนี้

๑. นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใด ๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้

๒. สั่งคำร้องคำขอต่าง ๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ

๓. ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว

๔. ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

๕. ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในบรรดากิจการอันเกี่ยวกับการจัดวางระเบียบและการดำเนินการงานส่วนธุรการของศาล

๖. ทำรายงานคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ

๗. มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

๘. สั่งให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมรายงานเกี่ยวกับคดี หรือรายงานกิจการอื่นของศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตน

๙. ในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตนไปช่วยทำงานชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสามเดือนในอีกศาลหนึ่งโดยความยินยอมของผู้พิพากษานั้นก็ได้ แล้วรายงานไปยังประธานศาลฎีกาทันที

๑.๒ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค  มีอำนาจหน้าที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๔ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง (๒)  ดังนี้

๑. เป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ

๒. สั่งคำร้องคำขอต่าง ๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ

๓. ช่วยอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคมอบหมาย

๑.๓ ผู้พิพากษาอาวุโสประจำสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ปฏิบัติงานในฐานะข้าราชการตุลาการซึ่งทำหน้าที่ช่วยอธิบดีผู้พิพากษาภาคในทางวิชาการในการตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้องของคำพิพากษาและคำสั่งของศาลในเขตอำนาจความรับผิดชอบ

๑.๔ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ  ปฏิบัติงานในฐานะข้าราชการตุลาการซึ่งทำหน้าที่ช่วยอธิบดีผู้พิพากษาภาคในหน้าที่ความรับผิดชอบของอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่ได้รับมอบหมาย และทำหน้าที่ทางวิชาการในการตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้องของคำพิพากษาและคำสั่งของศาลในเขตอำนาจที่รับผิดชอบ

๑.๕ เลขานุการศาลยุติธรรมประจำภาค มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ทำหน้าที่ผู้ช่วยติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานกับสำนักงานศาลยุติธรรมประจำศาลต่าง ๆที่อยู่ในภาค วางแผน มอบหมายงาน ควบคุม ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผลและแก้ไขปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานในหน่วยงาน

๒. งานด้านธุรการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการศาลยุติธรรมของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค

     สำนักศาลยุติธรรมประจำภาค มีผู้อำนวยการสำนักเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากอง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและคำสั่งให้ปฏิบัติราชการตามกฎหมายของอธิบดีผู้พิพากษาภาค สำนักศาลยุติธรรมประจำภาคมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(ก) ดำเนินการเกี่ยวกับราชการประจำและงานในอำนาจหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาภาค ตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปฏิบัติราชการอื่นใดตามที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคมอบหมาย

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารศาลยุติธรรมประจำภาค

(ค) กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษาแนะนำ และชี้แจงแก่หน่วยงานในเขตอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาภาค เกี่ยวกับการดำเนินการด้านการบริหาร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ

(ง) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับการจัดระบบงานธุรการของหน่วยงานในเขตอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาภาค และจัดทำข้อเสนอแนะแนวนโยบายการบริหารราชการของอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของ สำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่สำนักงาน ศาลยุติธรรมมอบหมาย

(ฉ) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ แผนงานโครงการของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมมอบหมาย

(ช) ดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค และหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมมอบหมาย

(ซ) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารการเงิน การบัญชี การพัสดุ อาคารสถานที่ มาตรการรักษาความปลอดภัย และยานพาหนะของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและหน่วยงาน ในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมมอบหมาย

(ฌ) เป็นศูนย์ข้อมูล รวมถึงฐานข้อมูลสารสนเทศทางด้านคดี และด้านการบริหารของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ญ) ดำเนินการเกี่ยวกับงานออกแบบ ก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ และบ้านพักของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ฎ) ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในระดับภาค

(ฏ) ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค และหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ฐ) บริหารงานทั่วไปของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค

(ฑ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

การแบ่งงานภายใน  สำนักศาลยุติธรรมประจำภาค ตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา แบ่งงานภายในออกเป็น ๗ ส่วนงาน มีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้

๑) ส่วนช่วยอำนวยการ มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

(ก) ปฏิบัติงานสารบรรณทั่วไป สารบรรณคดีและงานธุรการทั่วไปของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค

(ข) ดำเนินการงานห้องสมุดของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค

(ค) ดำเนินงานเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารศาลยุติธรรมประจำภาคและคณะทำงานส่งเสริมจริยธรรมประจำภาค

(ง) ดำเนินงานธุรการที่เกี่ยวข้องกับกิจการผู้พิพากษาสมทบของศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับงานราชพิธี รัฐพิธี และงานพิธีการของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค

(ฉ) ดำเนินการงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานเลขานุการนักบริหารของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค

(ช) ดำเนินงานประสานความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง

(ซ) ให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับงานธุรการทั่วไป และที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ฌ) ดำเนินการเกี่ยวกับราชการประจำและงานในหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาภาคที่เกี่ยวข้อง

(ญ) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานแผน งบประมาณ และรายงานผลของส่วนงาน

(ฎ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับหมาอบหมาย

๒) ส่วนคลังและอาคารสถานที่ มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

(ก) ดำเนินการเกี่ยวกับการเงินงบประมาณและการเงินนอกงบประมาณ

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับงานบัญชี

(ค) จัดทำคำของบประมาณประจำปี และคำของบประมาณเพิ่มเติมของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค

(ง) ดำเนินงานรักษาความปลอดภัย บุคคล อาคารสถานที่และยานพาหนะของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค และให้คำปรึกษา แนะนำ งานรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานในเขตอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนด

(จ) ดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้าง ตรวจเก็บรักษา เบิกจ่าย จัดทำทะเบียนคุมพัสดุและทรัพย์สินตลอดจนการซ่อมบำรุงและจำหน่ายพัสดุ

(ฉ) วิเคราะห์ประเมินคุณภาพของพัสดุ บริหารสัญญา วางแผนดำเนินงานและการจัดทำพัสดุประจำปี

(ช) ดำเนินการสำรวจ ตรวจที่ดิน สิ่งก่อสร้าง งานปรับปรุงซ่อมแซม บันทึกและปรับปรุงฐานข้อมูลด้านที่ดินและสิ่งก่อสร้างประกอบการของบประมาณ

(ซ) ประสานงานออกแบบและก่อสร้าง สำรวจ วางผังออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคาและระยะเวลาในการก่อสร้าง ควบคุมคุณภาพงาน และรายงานความคืบหน้าในการออกแบบและก่อสร้างของหน่วยงานในเขตอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ฌ) ดำเนินงานเกี่ยวกับแผนงาน งบประมาณ และรายงานของส่วนงาน

(ญ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย      

๓) ส่วนวิชาการและงานคดี มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

(ก) ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และเสนอแนะมาตรฐานการอำนวยความยุติธรรมในส่วนวิชาการและงานคดีที่เหมาะสมในแต่ละภาค

(ข) ดำเนินการสนับสนุนงานตรวจราชการและนิเทศงานของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ค) ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านธุรการคดี การบังคับคดีผู้ประกันแก่หน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ง) ดำเนินเกี่ยวกับการส่งเสริม และสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับการรายงานคดีตามระเบียนสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่าด้วยการรายงานคดี

(ฉ) ดำเนินการเกี่ยวกับสนับสนุนการตรวจร่างคำพิพากษาและการร่วมเป็นองค์คณะของหน่วยงานในเขตอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ช) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานแผน งบประมาณ และรายงานผลของส่วนงาน

(ซ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

๔) ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

(ก) เป็นศูนย์ข้อมูล รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศทางด้านคดีและด้านการบริหารของหน่วยงานให้เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ข) ดูแล บำรุงรักษา ตรวจสอบ ปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการทำงานของระบบงาน ระบบฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย ระบบคอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานของหน่วยงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

(ค) บริหารจัดการใช้งานบนระบบเครือข่ายที่ใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ระบบสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพ การให้บริการเว็บไซต์และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ง) บริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยในการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายและการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(จ) ให้คำปรึกษา แนะนำและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแล บำรุงรักษาแก้ไขปัญหา การใช้งานโปรแกรมปฏิบัติงานต่าง ๆ และการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์แก่บุคลากรของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ฉ) ศึกษา วิเคราะห์เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบงาน ระบบเครือข่าย และระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดทำคำของบประมาณประจำปีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคและของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ช) ศึกษา วิเคราะห์ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมระบบงานคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของสำนักศาลยุติธรรมประจำภาคหรือของหน่วยงานในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

(ซ) ดำเนินการประสานงานกับสำนักงานศาลยุติธรรมและปฏิบัติงานร่วมกับสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ

(ฌ) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานแผน งบประมาณ และรายงานผลของส่วนงาน

(ญ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย                

๕) ส่วนบริหารทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

(ก) ดำเนินการพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมระดับภาค

(ข) ประสานงานด้านการพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับทุนการศึกษา

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวิชาการด้านบุคคล

(จ) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานแผน งบประมาณ และรายงานผลของส่วนงาน                   

(ฉ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

๖) ส่วนแผนงานและงบประมาณ มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

(ก) จัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณระดับภาค

(ข) ประสานงาน โครงการ และรายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนงานโครงการ

(ค) ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานในภาค รวมถึง การติดตามประเมินผลแผนงาน โครงการของภาค

(ง) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานแผน งบประมาณ และรายงานผลของส่วนงาน                             

(จ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

๗) ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล  มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

(ก) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินในบริเวณศาล

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในบริเวณศาล

(ค) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงาน และลูกจ้างของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่ รวมทั้งอาคารสถานที่ และทรัพย์สินของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม

(ง) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี

(จ) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดการตามหมายจับ หรือเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้จัดการตามหมายจับตามคำสั่งศาล

(ฉ) ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจศาลตามพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(ช) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานแผน งบประมาณ และรายงานผลของส่วนงาน

(ซ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย